ในยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่ได้รับการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น ในอดีต โทรศัพท์มือถือจะถูกใช้สำหรับการพูดคุยติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการถ่ายรูป ถ่ายคลิปวิดีโอ ฟังเพลง หรือแม้กระทั่งเชื่อมต่อกับสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นทั้งภาพเคลื่อนไหว และได้ยินเสียงของคู่สนทนาของเราในแบบเรียลไทม์ ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารดังกล่าว ถูกนำมาใช้สำหรับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยทางไกล ซึ่งเรียกว่า การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine
Telemedicine คืออะไร?
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้คำจำกัดความของคำว่า การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine หมายถึง การจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์
หรือความหมายที่ทาง Sniper สรุปให้เข้าใจได้ง่าย ๆ นั่นก็คือ
Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) คือ การให้บริการด้านการแพทย์แก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video Conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัย การรักษา และติดตามอาการได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่
ประโยชน์ของ Telemedicine มีอะไรบ้าง?
1. ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
2. เพิ่มศักยภาพในการรักษา วินิจฉัย และติดตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
3. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม เช่น ค่าเดินทาง หรือค่าเสียเวลาอื่น ๆ
4. ประหยัดเวลาในการใช้บริการทางการแพทย์ เช่น นัดคิวแพทย์ได้ล่วงหน้า หรือรอรับยาได้ที่บ้านแทนต่อคิวรอที่โรงพยาบาล
Telemedicine สำคัญกับธุรกิจ Health & Wellness อย่างไร?
1. ช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในชนบทห่างไกลสามารถเข้าถึงการตรวจรักษา และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที รวมทั้งสามารถขยายงานบริการทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลได้มากขึ้น
2. มีประสิทธิผลคุ้มค่าการลงทุน (Cost Efficiencies) เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม และเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาโรค เนื่องจากใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล และยังช่วยลดระยะเวลาของแพทย์ในการเดินทางเพื่อมารักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาการนอนพักรักษาในโรงพยาบาลได้
3. อำนวยให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางด้านการแพทย์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมาที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้ป่วยลดความเครียดจากการเดินทางได้อีกด้วย
ปัจจุบัน Telemedicine ถูกนำมาใช้กับการให้บริการการแพทย์และสาธารณสุขในธุรกิจ Health & Wellness ระดับโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น
ซึ่งมีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่รองรับการให้บริการการแพทย์ด้วย Telemedicine ได้แก่ โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ตของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการส่งข้อมูลผู้ป่วย และโรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้ระบบการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม
โดยทั้งสองแห่งเป็นโรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่ายและสถานีอนามัยที่ตนเองรับผิดชอบเป็นลูกข่าย (ปัจจุบันสถานีอนามัยเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ซึ่งทั้งสองแห่งใช้งานผ่านระบบ Video Conference เช่นเดียวกัน
ส่วนภาคเอกชน ก็มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่นำระบบ Telemedicine มาใช้ เช่น กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพที่นำนวัตกรรม ROBO DOCTOR หรือคุณหมอหุ่นยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเสริมศักยภาพการรักษาพยาบาล ซึ่งจะเริ่มใช้กับโรงพยาบาล 4 แห่งของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แก่ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซอยศูนย์วิจัย) โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
โดยเริ่มนำร่องใช้สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เนื่องจากโรคกลุ่มนี้เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากเท่าใด ยิ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลาง ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึงผู้ป่วยและญาติ สามารถซักถามโต้ตอบกันแบบเห็นหน้า ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาแบบ Real Time Interactive
ข้อจำกัดของการใช้ Telemedicine กับสถานพยาบาลเอกชน
การให้บริการทางการแพทย์ไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม จะต้องมีการดูแล กำกับมาตรฐานให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง แก่ผู้ป่วยที่อาการไม่ซับซ้อน หรือต้องพบแพทย์เป็นประจำ รวมทั้งคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้รับบริการในสถานพยาบาลเอกชน
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรม สบส. (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) จึงได้พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล และได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564” โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (2 กุมภาพันธ์ 2564)
ซึ่งสาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนที่ประสงค์จะให้บริการโดยระบบบริการการแพทย์ทางไกล ต้องยื่นแบบคำขอบริการเพิ่มเติมต่อผู้อนุญาต คือ อธิบดีกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ รวมทั้ง ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องจัดให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสมในการให้บริการ อาทิ
- จัดให้มีแพทย์ให้บริการในจำนวนที่เพียงพอต่อการให้บริการโดยตรง โดยจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการหลักอื่น ๆ
- จัดเตรียมแผนและอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างชัดเจน และมีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงด้านสารสนเทศ
- มีการลงทะเบียน บันทึกข้อมูล รายงานผลการให้บริการ การตรวจสอบและการยืนยันกระบวนการการให้บริการทุกขั้นตอน
- กำกับและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
- มีการชี้แจงรายละเอียดก่อนการให้บริการ ขั้นตอนปฏิบัติ ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการทุกด้าน และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้รับบริการ ฯลฯ
หากมีการฝ่าฝืนก็จะมีการดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับผู้รับอนุญาต หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งนอกจากจะช่วยคุ้มครองประชาชนแล้วยังสร้างความเชื่อมั่นให้การตรวจ วินิจฉัย รักษาพยาบาล และป้องกันโรค ผ่านระบบดิจิทัลหรือเทเลเมดิซีนของสถานพยาบาลไทยว่าจะเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หากประชาชนหรือสถานพยาบาลแห่งใดมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรม สบส. 1426
นอกจากนี้ ยังมีประกาศแพทยสภา เรื่อง “แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (telemedicine) และคลินิกออนไลน์” ที่ได้กำหนดข้อปฏิบัติที่สำคัญในการใช้งาน อาทิ
- การใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมหรือปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence AI) ร่วมกับ การใช้โทรเวชหรือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) จำต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ กฎหมายที่เกี่ยวกับยา เป็นต้น
- ระบบสารสนเทศที่ใช้ดำเนินการโทรเวช ต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศ และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- คลินิกออนไลน์และการให้บริบาลการแพทย์ทางไกล (telemedicine) จำเป็นต้องดำเนินการผ่านสถานพยาบาลเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ระบบ Telemedicine หรือระบบการแพทย์ทางไกล เป็นอีกรูปแบบของระบบบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาไกล นอกจากนี้ โรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางก็จะได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านการตรวจรักษา การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ ตลอดจนการศึกษาต่อเนื่องทางการแพทย์ เป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และระบบบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมประชากรในส่วนต่าง ๆ ของประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ประชากรของประเทศมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด
หากคุณสนใจระบบที่จะช่วยให้คุณสามารถทำธุรกิจ Health & Wellness ในระดับคลินิกได้อย่างครบวงจร สามารถติดต่อ Sniper เพื่อรับคำปรึกษา นัดหมายพูดคุยในการวางแผนการใช้ระบบการจัดการคลินิกแบบ “Smart” ได้ที่เว็บไซต์ https://sniper.tech/ หรือไลน์แอด @snipertech หรือโทรติดต่อ 093-498-2446
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
#TELEMEDICINE #SNIPERTELEMEDICINE #SNIPERSMARTCLINIC #SNIPERMARKETING #SNIPERTECH